มาขึ้นปีใหม่ด้วยเมตตากันเถิด

(วสิษฐ เดชกุญชร นสพ.มติชน อังคาร 28 ธ.ค. 47 หน้า 6)

ตอนนี้ใครๆ ก็คงได้รับบัตร ส.ค.ส.กันทุกคนนะครับ มากบ้างน้อยบ้าง และหลายคนก็คงจะกำลังส่งบัตร ส.ค.ส.กันอยู่เป็นธรรมดา
“ส.ค.ส.” ย่อมาจาก “ส่งความสุข” การส่งบัตร ส.ค.ส.จึงเป็นการแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของผู้ส่งที่จะให้ผู้รับมีความสุข
ความปรารถนาที่จะให้ (ตนเองหรือผู้อื่น) มีความสุขนั้น ภาษาชาวพุทธเรียกว่า “เมตตา” การส่งบัตร ส.ค.ส.จึงเป็นการแผ่เมตตาเป็นลายลักษณ์อักษร
เมตตาจะได้ผล ทำให้มีความสุขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ส่งว่าอยากจะให้ผู้รับมีความสุขจริงหรือไม่ ถ้าสักแต่ว่าส่งๆ ไปพอเป็นพิธี ไม่ได้ตั้งอกตั้งใจอะไร แรงเมตตาก็จะอ่อน เสียเงิน (ค่าบัตร) เปล่าๆ
แต่ถ้ามีเจตนาแท้จริงที่จะให้ผู้รับมีความสุข เมตตาจะแรง แม้จะไม่ส่งเป็นบัตร ส่งเป็นกระแสจิตออกไปเฉยๆ แต่ก็จะได้ผล ผู้รับจะรู้สึก
เวลาจะแผ่เมตตา ควรทำจิตให้สงบก่อน เพราะจิตสงบมีพลังมากกว่าจิตที่ยังสับสนวุ่นวาย พอรู้สึกว่าจิตสงบแล้วจึงค่อยแผ่เมตตา เทคนิคอีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าแผ่เมตตาโดยมีเงื่อนไขอย่างใดทั้งสิ้น เมตตาจึงจะแรงที่สุด ถ้าแผ่แบบมีเงื่อนไข เช่น แผ่โดยอยากจะให้เขารักเรา หรือเพื่อให้เขาทำประโยชน์อย่างใดก็ตามให้เรา แรงของเมตตาจะอ่อน ผลที่เกิดจะเป็นลบ อย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า counter-productive
เขียนบัตร ส.ค.ส.ก็เหมือนกัน ตั้งใจส่งถึงใคร อยากให้ผู้รับผู้นั้นมีความสุข เท่านั้นก็พอแล้ว ไม่ต้องไปตั้งตาคอยว่าส่งไปแล้วเขาจะส่งตอบเรามาหรือไม่
คนไม่ค่อยรู้ว่าเมตตาเป็นแรง (หรือพลังหรือกระแส) ชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อส่งออกไปแล้ว โดยหลักทางวิทยาศาสตร์จึงจะมีแรง (หรือพลังหรือกระแส) สวนโต้กลับมาด้วยความแรงเท่ากัน ผู้ที่ค้นพบหลักนี้เมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว คือ เซอร์ไอแซกนิวตัน (Sir Isaac Newton) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ
เพราะฉะนั้น คนแผ่เมตตาจึงย่อมได้รับเมตตาเป็นการตอบแทนอย่างแน่นอน แม้จะไม่คาดหวังเลย
การแผ่เมตตาควรทำเป็นกิจวัตร ไม่คอยจนกระทั่งถึงเทศกาลคริสต์มาส หรือปีใหม่ การส่งบัตร ส.ค.ส.ควรถือเป็นเพียงการตอกย้ำเมตตาอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่ส่ง (หรือแผ่) กันอยู่แล้วทั้งปี
ไหนๆ เขียนแล้วก็ขอเขียนให้สมบูรณ์ว่า นอกจากเมตตาแล้ว ยังมีพลัง (หรือแรงหรือกระแส) อีกสองอย่างที่ควรแผ่ให้ตนเองและผู้อื่นด้วย คือ กรุณา และมุทิตา
กรุณาคือความปรารถนาจะให้พ้นทุกข์ มุทิตาคือความยินดีในสุขหรือสมบัติที่ (ตนเองหรือผู้อื่น) ได้มาแล้ว ไม่อิจฉาริษยาที่คนอื่นเขามีเขาได้
และยังมีพลัง (หรือแรงหรือกระแส) อีกอย่างหนึ่งเป็นที่สุด คือ อุเบกขา ซึ่งทำให้สามารถวางเฉยไม่หวั่นไหว เมื่อให้เขาไม่ได้แล้วทั้งเมตตา กรุณา และมุทิตา สามารถพิจารณาและเข้าใจว่าเขามีกรรมเป็นของเขา ต้องรับผลของกรรม และที่เขากำลังประสบ (เคราะห์ร้าย) อยู่นั้น เป็นผลของกรรมที่เขาทำมาเอง
เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา พลังสี่อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านทรงเรียกว่า พรหมวิหาร หรือพรหมวิหารธรรม
การแผ่เมตตาคือการเจริญพรหมวิหารธรรม
ที่โลกกำลังเดือดร้อนอยู่แทบทุกหย่อมหญ้า คนทำสงครามหรือก่อการร้าย ทำร้ายและฆ่าฟันกันอย่างโหดเหี้ยม เมื่อไม่ทำร้ายไม่ฆ่าฟันกันก็ยังมุ่งร้าย อิจฉาริษยา เอารัดเอาเปรียบ ลักขโมย ยักยอก และฉ้อโกงกัน ก็เพราะไม่รู้จักแผ่เมตตา ไม่รู้จักพรหมวิหาร หรือรู้จักแต่ปาก ส่วนใจนั้นขาดเมตตา ขาดพรหมวิหาร
โลกจะสงบได้ก็แต่ด้วยเมตตาเท่านั้น ตราบใดที่โลกยังขาดเมตตา ตราบนั้นโลกจะไม่สงบ
ขึ้นปีใหม่นี้ ผมขอแผ่เมตตาให้ท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง
ขอจงเป็นสุขเถิด ขอจงอย่ามีเวรแก่กันและกัน ขอจงไม่มีทุกข์กายทุกข์ใจ รู้จักรักษาตัวอยู่เป็นสุขเถิด
ขอจงพ้นทุกข์เถิด
ขอจงอย่าไปพรากจากสมบัติอันได้มีแล้วเถิด
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ ไม่ว่าดีหรือชั่ว จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น