โลกการอ่านที่เปลี่ยนแปลง

(วรากรณ์ สามโกเศศ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ [email protected] นสพ.มติชน พฤหัสฯ 30 ธ.ค. 47 หน้า 6)

โลกของการอ่านกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งในรูปลักษณ์ของสิ่งที่อ่าน รสนิยมของคนอ่าน เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ รวมไปถึงขนาดของสิ่งพิมพ์ด้วย
หนังสือพิมพ์มิได้ตั้งขึ้นมาเพื่อสาธารณกุศล หากสนใจรายได้ กำไร และจำนวนคนอ่าน ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงทีมงานก็ต้องปรับตัว ที่น่าสนใจก็คือการปรับตัวและขนาดของสิ่งพิมพ์
ใครที่เป็นแฟนของนิตยสาร Far Eastern Economic Review คงใจหายเมื่อรูปลักษณ์ของการเป็นนิตยสารหายไปกลายเป็นวารสารวิชาการเชิงวิเคราะห์แนวเดียวกับ Foreign Policies (FP) ซึ่งก็ยังดีที่ไม่หายสาบสูญไปเหมือนนิตยสาร Asiaweek ที่ปิดตัวก่อนหน้านี้สัก 1-2 ปี
โลกหนังสือกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังสร้าง E-Book หรือจอคอมพิวเตอร์ขนาดเท่าหนังสือที่สามารถเลือกอ่านหนังสือได้เป็นร้อยเป็นพันเล่ม ปัจจุบันยังดูเป็นจอที่มีแสงสว่างอยู่ แต่ต่อไปอาจพัฒนาขึ้นจนคล้ายหนังสือมากก็เป็นได้ หนังสือจะสูญพันธุ์ไปหรือไม่จะต้องดูกันต่อไป แต่สำหรับคนจำนวนมากซึ่งรวมผู้เขียนด้วยไม่มีอะไรจะมาแทนที่หนังสือแบบเก่าดั้งเดิมที่ผู้อ่านสามารถสัมผัสกระดาษจนรู้สึกเป็นมนุษย์มากขึ้นกว่าการอ่านจากจอ
เมื่อเร็วๆ นี้ Google ยักษ์ใหญ่ของ Search Engine ในวงการอินเตอร์เน็ตประกาศว่าจะร่วมมือกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งแปรเปลี่ยนเนื้อหาของหนังสือมีค่าจำนวนนับล้านๆ เล่มเป็นระบบดิจิตอล ซึ่งจะทำให้ใครๆ ก็สามารถอ่านได้ฟรีผ่าน Website ของ Google
“การปฏิวัติ” เช่นนี้ของ Google พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาของ E-Book อาจมีส่วนทำให้หนังสือที่เป็นเล่มมีอนาคตมืดมนลงในหลายสิบปีข้างหน้า ภายใน 20 ปีข้างหน้าความรู้ในหนังสือทั้งหลายจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นรูปดิจิตอลทั้งหมด จนการมีห้องสมุดใหญ่โตเก็บหนังสือในรูปแบบเก่าล้าสมัยก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี การเก็บข้อมูลไว้ในรูปดิจิตอลของห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ก็เป็นการสร้างปัญหาในอีกลักษณะหนึ่ง ข้อมูลที่อยู่ในแผ่นซีดีต่างจากข้อมูลที่อยู่ในหนังสือ อย่างแรกจะต้องมีเครื่องอ่านที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์จึงจะรับทราบข้อมูลได้ ซึ่งต่างไปจากอย่างหลังที่แค่เปิดหน้าก็อ่านได้เลย ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าในอีก 100 ปีข้างหน้า เราจะยังคงมีเครื่องอ่านซีดีแบบเช่นปัจจุบัน เราอาจมีเครื่องอ่านข้อมูลที่ทันสมัยมากจนยากที่จะหาเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบเก่าที่อ่านข้อมูลในซีดีที่เก็บไว้เป็นจำนวนมหาศาลในแบบปัจจุบันได้
ข้อมูลในรูปดิจิตอลที่สามารถดาวน์โหลดได้มิได้มีเฉพาะหนังสือเท่านั้น ยังมีข่าวบทความ และบทวิจารณ์ของนิตยสารและหนังสือพิมพ์เช่นเดียวกัน ทั้งหนังสือนิตยสารและหนังสือพิมพ์กำลังประสบปัญหาการแข่งขันกับการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตจนต้องปรับปรุงกันอย่างวุ่นวายโดยเฉพาะในยุโรป
หนังสือพิมพ์ยุโรปนั้นตีพิมพ์ในรูป Broadsheet (เป็นแผ่นแบบหนังสือพิมพ์ไทยปัจจุบัน) กันมาช้านาน ในทศวรรษ 1990 ยอดขายตกต่ำลงเป็นลำดับจนต้องใช้กลยุทธ์แจกแผ่นซีดีเน้นข่าวคราวคนดัง เรียกว่าสารพัดวิธี ล่าสุดที่หันมาใช้กันก็คือเปลี่ยนรูปลักษณ์มาเป็น Tabloid ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า Broadsheet (ตัวอย่างเช่นผู้จัดรายการรายเดือน) และย่อข่าวให้กะทัดรัดด้วย
มีการเลียนแบบการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวกันกว้างขวางเพราะต่างก็สามารถหยุดยอดขายที่ตกไปได้ เพราะ Tabloid ดึงดูดความสนใจของคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นหัวใจของการโฆษณา ข้อได้เปรียบของ Tabloid ก็คือความเล็กที่สะดวกต่อการถืออ่านในรถไฟหรือรถเมล์
The Times of London ต้องละทิ้งประวัติศาสตร์ 219 ปี ของการตีพิมพ์แบบ Broadsheet มาเป็นแบบ Tabloid เมื่อเดือนกันยายน 2004 (โดยเรียกว่าขนาด compact ไม่ใช่ Tabloid ที่สื่อความหมายของการเป็นหนังสือพิมพ์ประเภทซุบซิบข่าวอื้อฉาว)
นับวันรูปแบบ Tabloid ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในหมู่ชาวยุโรป ไม่ว่าเบลเยียม (Gazet van Antwerpen De Standard) อังกฤษ (Independent) เดนมาร์ก (Information) สวีเดน (Dagens Nyheter) ฯลฯ
การเป็น Tabloid ทำให้การวางหน้าแรกของหนังสือพิมพ์เปลี่ยนไป เช่น The Times of London แทนที่จะมีหลายเรื่องและมีรูปใหญ่หนึ่งรูปแบบตอนเป็น Broadsheet กลับเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียวและมีรูปเดียว คอลัมน์ด้านซ้ายก็จะมีหัวข่าวและบทสรุปสั้นๆ ของเรื่องต่างๆ รวม 6-7 เรื่อง
ถึงจะเปลี่ยนเป็น Tabloid แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไปเพราะมีหนังสือพิมพ์ประเภทแจกฟรีมีโฆษณาออกมาสู้ เช่น Metro International ซึ่งเริ่มในสวีเดน และขยายไป 11 ประเทศในยุโรป และหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ถูกกระทบมากที่สุดจากหนังสือพิมพ์แจกฟรีเช่นนี้ (ในการพิมพ์ครั้งที่หกมียอดคนอ่านหนังสือพิมพ์แจกฟรีถึง 525,000 ฉบับ) Le Monde ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำของฝรั่งเศสมีขนาดเล็กกว่า Broadsheet แต่ใหญ่กว่า Tabloid กำลังสูญเสียคนอ่านเพราะยอดขายลดลงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ยอดการอ่านหนังสือพิมพ์ต่อหัวของฝรั่งเศสต่ำสุดในยุโรป คือ 167 ฉบับต่อประชากร 1,000 คน (เยอรมนี 322 ฉบับ และอังกฤษ 383 ฉบับต่อ 1,000 คน) อายุเฉลี่ยของคนอ่าน Le Mande และ Liberation สองหนังสือพิมพ์ยักษ์ในฝรั่งเศสคือ 45 ปี รายงานของรัฐบาลฝรั่งเศส ล่าสุดสรุปว่าคนหนุ่มสาวไม่อ่านหนังสือพิมพ์เพราะแพงเกินไปและเนื้อหาไม่น่าสนใจ ข้อเสนอก็คือสำหรับเยาวชนที่อายุครบ 18 ปี ทุกคน รัฐบาลแจกหนังสือพิมพ์ให้อ่านฟรี 2 เดือน
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเกิดขึ้นในโลกของการอ่าน ไม่ว่าจะเป็น E-Book หนังสือพิมพ์แจกฟรี ขนาดของหนังสือพิมพ์ที่ถูกใจ ราคากระดาษ การอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารจากอินเตอร์เน็ต ฯลฯ จนทุกองค์กรที่เกี่ยวพันล้วนกำลังถูกกระทบอย่างไม่เคยประสบมาก่อน แต่ถึงจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรการอ่านก็มีความสำคัญอย่างไม่ลดหายไป
จำได้ว่ามีคนเคยพูดว่าคนที่ไม่อ่านหนังสือดีๆ ไม่มีข้อได้เปรียบเหนือคนอ่านหนังสือไม่ออกแต่อย่างใด