ความสุข……อยู่ตรงไหน?

Happines cheerful perforated paper smiley face

เศรษฐกิจจะพัฒนาหรือขยายตัวมากน้อยเพียงใด นักเศรษฐศาสตร์จะใช้ จีดีพี. (Gross Domestic Products) หรือ ผลิตภัณท์มวลรวมภายในประเทศเป็นตัววัด แต่ระยะหลัง คนไทยเริ่มพูดถึงความสุข หรือ จีดีเอช. (Gross Domestic Happiness) มากขึ้นควบคู่ไปกับ จีดีพี. ซึ่งหมายถึงว่า นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจจะขยายตัวแล้ว คนต้องมีความสุขด้วย
ก่อนนี้ เคยมีรายงานในนิตยสารวิทยาศาสตร์ใหม่ในอังกฤษ พูดถึงผลการสำรวจประชาชนในหลายประเทศระหว่างปี 2542-2544 พบว่า คนที่มีความสุขมากที่สุดอยู่ในประเทศไนจีเรีย เม็กซิโก เวเนซูเอลลา เอลซัลวาดอร์ เปอร์โตริโก ส่วนประเทศที่ประชาชนมีความสุขน้อยที่สุด คือ รัสเซีย อาร์เมเนีย โรเมเนีย สำหรับนิวซีแลนด์อยู่ลำดับที่ 15 สหรัฐ 16 ออสเตรเลีย 20 อังกฤษ 24 โดยใช้ดัชนีชี้วัดประกอบด้วย การแต่งงาน การมีเพื่อนและให้คุณค่ากับความเป็นเพื่อน โลภน้อย การตอบแทนบุญคุณ ความศรัทธาในศาสนา ไม่เอาตัวเองไปเปรียบกับคนอื่น การหารายได้ การเติบโตเป็นผู้อาวุโสอย่างสง่างาม ฯลฯ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานของ “มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่” หรือ เอ็นอีเอฟ. กล่าวถึงดัชนีความสุขของประชาชนในประเทศต่างๆ โดยใช้มาตรฐานการครองชีพ ความพึงพอใจของชีวิต ความมีอายุยืนของประชาชน ความรู้ การศึกษา สภาพแวดล้อม เป็นตัวชี้วัด ปรากฎว่า ประเทศที่ประชาชนมีความสุขมากที่สุด กลายเป็นวานูอาตู เกาะเล็กๆในแปซิฟิคใต้ ประเทศที่ติดอันดับต้น ๆ เป็นประเทศเล็ก ๆ ทั้งสิ้น โดยภูฎานอยู่ในลำดับที่ 13
สำหรับประเทศกลุ่มอาเซียน ไทยอยู่ลำดับที่ 32 บรูไน 100อินโดนีเซีย 23 มาเลเซีย 44 ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ 131 เวียดนาม 12 ลาว 109 กัมพูชา 91 และพม่า 77 หลายคนสงสัยว่า รายงานฉบับนี้เชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด เพราะหลายอย่างดูขัดกับความเป็นจริง แต่รายงานฉบับนี้อาจต้องการชี้ให้เห็นว่า ประชาชนในประเทศเล็ก ๆ ที่เศรษฐกิจยากจน มีความสุขมากกว่าคนในประเทศใหญ่เสียอีก
ล่าสุด มหาวิทยาลัยเลซเตอร์ ประเทศอังกฤษเผยแพร่รายงานว่าด้วย“แผนที่โลกแห่งด้วยความสุข” โดยออกแบบสอบถามประชาชน 8 หมื่นคนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายงานนี้ให้คำจำกัดความคำว่า “ความสุข” คือ การมีสุขภาพดี มีความมั่งคั่ง และเฉลียวฉลาด (การศึกษาดี) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดระดับความสุขของคนในประเทศต่าง ๆ เป็นความพึงพอใจในชีวิตซึ่งแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน 20 ประเทศแรกที่ประชาชนมีความสุขมากที่สุดในโลก เรียงตามลำดับ คือ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ บาฮามาส ฟินแลนด์ สวีเดน ภูฎาน บรูไน แคนาดา ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก คอสตาริกา มอลต้า เนเธอแลนด์ แอนติกราและบาร์บูดา มาเลเซีย นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ซีเชลล์ ส่วนประเทศใหญ่ ๆ อาทิ สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 23 เยอรมนี 35 อังกฤษ 41 ฝรั่งเศส 62 จีน 82 และญี่ปุ่น 90 อินเดีย 125 รัสเซีย 167
เป็นที่น่าสังเกตว่า จากรายงานฉบับนี้ ประเทศที่รัฐบาลดูแลสุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นอย่างดี ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง และประชาชนมีการศึกษาดี มีแนวโน้มที่ประชาชนมีความสุขมากกว่า ประเทศที่มีประชากรมากเกินไป ประชากรโดยเฉลี่ยมีความสุขน้อยกว่า เช่น จีน อยู่ลำดับที่ 82 อินเดีย 125 และรัสเซีย 167
ส่วนประเทศที่ประชาชนมีความสุขน้อยที่สุด 3 ประเทศในจำนวน 178 ประเทศ คือ สาธารณะรัฐประชาธิปไตยคองโกง ซิมบับเว บูรุนดิ สำหรับประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 76 เหนือกว่าฟิลิปปินส์( 78) เวียตนาม (95 )กัมพูชา (110) ลาว (126) และพม่า (130) แต่อยู่หลังบรูไน ( 9) มาเลเซีย (17) สิงคโปร์ (53) อินโดนีเซีย (64)
ขอให้สังเกตว่า ในรายงานสองฉบับท้าย ภูฎาน อยู่ในลำดับต้นๆ แสดงว่า ประชาชนภูฎานโดยเฉลี่ยมีความสุขจริงตามนโยบายการบริหารประเทศของกษัตริย์ภูฎาน ดัชนีชี้วัดความสุขของคนภูฎาน หรือ ที่เรียกว่า จีดีเอช. ประกอบด้วยมาตรฐานการครองชีพ สุขภาพ การศึกษา สภาพแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจพึ่งพาตนเอง ความแข็งแกร่งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม การปกครองแบบธรรมาภิบาล ความแข็งแกร่งของชุมชน ความกินดีอยู่ดีของประชาชน นักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มดูภูฎานเป็นตัวอย่างว่า คนไทยจะแสวงหาความสุขเช่นคนภูฎานได้อย่างไร
หากเปรียบเทียบรายงานทั้งสามฉบับ รายงานของมหาวิทยาลัยเลซเตอร์ดูน่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด อย่างไรก็ดี ไม่ว่าการสำรวจจะใช้อะไรเป็นดัชนีชี้วัด และผลออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆ เริ่มตั้งคำถามว่า เงินและวัตถุที่ทุกคนแสวงหาภายใต้ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมนั้น เป็น “ความสุข” จริงหรือ?
ถ้าคนไทยมีปัจจัยสี่พอเพียงตามอัตภาพ มีสุขอนามัยแข็งแรง มีจิตใจที่ดี อยู่ใน สังคมอย่างสงบสุข มีอาหารใจ มีความรู้ดีพอสมควรจากการศึกษาในระบบหรือนอกระบบก็ตาม ใฝ่หาความรู้ ที่สำคัญที่สุดคือ มีสติปัญญาในการดำเนินชีวิต มีสิ่งยึดเหนี่ยว มีความรู้ความเข้าใจตนเอง “รู้จักพอประมาณ” เพียงเท่านี้ คนไทยก็จะมีความสุขมากขึ้นภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมสุดขั้วเช่นในปัจจุบัน