สื่อออนไลน์ – อาหารสมอง

โลกมีประชากรรวมทั้งหมดประมาณ 6,000 กว่าล้านคน แต่มีเพียง 1,000 ล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์หรืออินเตอร์เน็ต บางประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่อีกหลายประเทศที่ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทำอย่างไรจะทำให้คนส่วนใหญ่ของโลกเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ถ้วนหน้ากัน หรือสามารถติดต่อกันทั้งโลก จาก 1,000 ล้านคนในวันนี้ อีกไม่นานคงถึง 1,500 ล้านคนซึ่งไม่ยากนัก เพราะคนจีนซึ่งมีจำนวนมากกำลังเป็นผู้ใช้รายใหม่มากขึ้น แต่เราจะทำให้คนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 2,000 ล้านคนในอนาคตอันใกล้ได้อย่างไร
ในเกาหลีใต้ บ้านของคนเกาหลีใต้ 70 หลังใน 100 หลังมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง อาจถือว่าสคนเกาหลีใต้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ไม่แพ้รัฐแคลิฟอร์เนียหรือส่วนอื่นของสหรัฐ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศในทวีปแอฟริกาซึ่งมีประชากรรวมทั้งหมดเกือบ 1,000 ล้านคน แต่มีเพียงร้อยละ 3.6 เท่านั้นที่มีอินเตอร์เน็ต และมีเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้นที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ประเทศอื่นไม่น่าห่วงเท่าไรเพราะประชากรของประเทศนั้น ๆ หันมาใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ คนในทวีปแอฟริกา บางส่วนของเอเชีย อเมริกาใต้และตะวันออกกลาง
บางคนอาจแย้งว่า คนแอฟริกันต้องการอาหารและน้ำดื่มมากกว่าต้องการอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นความจริง คนต้องมีอาหารและน้ำดื่มเพียงพอที่ร่างกายต้องการเสียก่อน แล้วจึงจะคิดเรื่องอื่น แต่ถ้าปราศจากการเข้าถึงความรู้ในอินเตอร์เน็ตซึ่งเปรียบเสมือนห้องสมุดโลก ประชาชนจะขาดอาหารสมอง เมื่อสมองขาดอาหารสมอง คนก็โง่ ถูกผู้นำหลอกเอาได้ง่าย ๆ อินเตอร์เน็ตในปัจจุบันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของสังคมความรู้ อินเตอร์เน็ตไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อความคิดกันเท่านั้น แต่เป็นเสมือนอาหารที่เราต้องกินเช่นกัน
การที่ประชากรในหลายประเทศ หลายภูมิภาคยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ส่วนหนึ่งเกิดจากประเทศนั้นยังการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคนิค เช่น คู่สายโทรศัพท์พื้นฐานมีจำกัด มีการผูกขาดด้านสื่อสารคมนาคม ทำให้ขาดการแข่งขัน ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสื่อออนไลน์ ขาดการบริการที่ดี
ที่สำคัญที่สุดคือ หากประเทศใดปล่อยให้มีการผูกขาด เมื่อผูกขาด ก็ไม่มีการแข่งขัน คนผูกขาดก็ไม่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ไม่ปรับปรุงด้านบริการและด้านราคา เพราะคิดว่าอย่างไรเสียประชาชนต้องมาใช้บริการของตนซึ่งเป็นแห่งเดียวในประเทศ จะกำหนด ราคาเท่าใดก็ได้ ไม่ต้องปรับปรุงบริการก็ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ราคาสินค้าและบริการจะถูกลง มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีการปรับปรุงการบริการดีขึ้น ไม่เช่นนั้นจะสู้กับบริษัทอื่นไม่ได้
ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูประเทศไทยนี่แหละเป็นตัวอย่าง ในระยะแรกที่มีเพียงบริษัทเดียวผูกขาด ราคาสินค้าและบริการแพงมาก แต่เมื่อรัฐปล่อยให้มีการแข่งขันกัน มีทั้งบริษัทท้องถิ่นและบรรษัทข้ามชาติเข้ามาให้บริการอินเตอร์เน็ต มีการแข่งขันด้านราคาทำให้สินค้าและบริการราคาถูกลงมาก มีการปรับปรุงการให้บริการ ปรับปรุงเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ระบบ 3 จี. มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ฯลฯ ประโยชน์ของการแข่งขันจะตกกับประชาชนเป็นสำคัญ
แต่การแข่งขันประการเดียวไม่ใช่คำตอบ ทำอย่างไร โลกและประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อให้ประชากรโลกเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น
สำหรับพื้นที่ที่ยังไม่มีเครือข่ายและไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน ไม่มีโทรศัพท์พื้นฐานสำหรับการใช้อินเตอร์เน็ต เช่น ในชนบทห่างไกลในประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนในแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา ฯลฯ เราจะทำกันอย่างไร คำตอบในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นว่าต้องใช้โทรศัพท์ไร้สาย หรือโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบัน มีคนทั่วโลกประมาณ 2,500 ล้านคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือ และคงจะถึง 3,000 ล้านคนในเร็ว ๆ นี้
ถึงแม้คนเหล่านี้ยังไม่มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ เพียงให้เขาได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วต่ำธรรมดา ก็เท่ากับให้โอกาสพวกเขาและลูกหลานได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือเข้าถึงแหล่งความรู้โลกแล้ว จากนั้น จึงค่อย ๆ นำระบบความเร็วสูงไปสู่พวกเขาต่อไปส่วนคนในเมืองก็เดินหน้าไปสู่ระบบ ไว-ไฟ และคงมีอะไรใหม่ๆ ให้เล่นอยู่เสมอ
อินเตอร์เน็ตเป็นการปฏิวัติสื่อของโลก เป็นยุคทองของการสื่อสารโลก ผู้บริโภคเปลี่ยนสภาพจากเป็นผู้รับฟัง รับชม รับอ่านฝ่ายเดียว อินเตอร์เน็ตทำให้คนสามารถติดต่อถึงกันได้สองทางในเวลาอันรวดเร็ว อินเตอร์เน็ตทำให้การค้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีประโยชน์อีกหลายประการ อย่างไรก็ดี อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่คนใช้ในการติดต่อสื่อสารถึงกัน ในการค้นหาความรู้ ฯลฯ อินเตอร์เน็ตจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับคนที่ใช้มัน ถ้าใช้ดี อินเตอร์เน็ตก็ให้ประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าใช้มันไม่ดี เช่น ใช้เป็นแหล่งเผยแพร่ภาพลามก การค้าสิ่งผิดกฎหมาย ใช้ติดต่อกันระหว่างกลุ่มอาชญากรรม กลุ่มก่อการร้าย ใช้ในการหลอกลวง ฯลฯ อินเตอร์เน็ตก็ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย
จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า “อาชญากรรมไซเบอร์” ซึ่งทำความปวดหัวให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จนถึงทุกวันนี้