ความยากจนทางปัญญา

การแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นนโยบายของพรรคการเมืองทุกพรรค ที่ใช้เป็นแนวทางในการหาเสียง เมื่อพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล ก็ประกาศไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ก่อนเข้าบริหารประเทศ ส่วนทำได้มากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อพูดถึงความยากจน เรามักคิดถึงคนที่มีรายได้น้อย มีเงินน้อย มีทรัพย์สมบัติน้อย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ชาวไร่ชาวนา กรรมกร รับจ้าง คนหาเช้ากินค่ำ ฯลฯ ซึ่งสามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจาก “ความยากจนทางทรัพย์สิน” แล้ว ยังมีความยากจนอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งคนไม่ค่อยพูดถึงกัน นั่นคือ “ความยากจนทางปัญญา” คนจนทางทรัพย์สินส่วนใหญ่ มักจะยากจนทางปัญญาด้วย แต่คนรวยที่ยากจนทางปัญญาก็มีไม่น้อยเช่นกัน
การแก้ปัญหาความยากจนทางทรัพย์สิน คือการสร้างงานเพื่อให้คนมีงานทำ และมีรายได้ขั้นต่ำพอเพียงต่อการดำรงชีพ ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนทางปัญญา ต้องให้การศึกษา เพื่อให้เขา “รู้จักคิด” และ “คิดเป็น”
สถานการณ์ทางการเมืองในไทยปี 2549 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า มีคนจนทางปัญญามากมาย คนเหล่านี้มักฟังข้อมูลข่าวสารด้านเดียว รับมาอย่างไรก็เชื่ออย่างนั้น โดยไม่รู้จักวิเคราะห์ว่าถูกหรือผิด มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หรือมองเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น บางทีเชื่อเพราะได้รับอามิสสินจ้าง คนเหล่านี้ขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนในชนบท ซึ่งไม่รู้จักใช้หลัก “กาลามสูตร” ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
แม้คนในตัวเมืองซึ่งเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากสื่อประเภทต่างๆ หรือร่ำรวยข้อมูลข่าวสาร แต่ก็มีไม่น้อยที่ยากจนทางปัญญา เพราะไม่สามารถแปลงข้อมูลข่าวสารให้เป็นข้อมูลทางปัญญาได้ กล่าวคือ ไม่รู้จักวิเคราะห์ แยกแยะ ข้อมูลเหล่านั้น คนส่วนใหญ่มักรับรู้ว่าใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร แต่ไม่ยอมคิดต่อให้ครบวงจรว่า ทำไม?
จากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ เราต้องแปลงให้เป็น “ความรู้” และพัฒนาความรู้ให้เป็น “ปัญญา” จึงจะเกิด “พลัง” ดังที่กล่าวกันว่า ข่าวสารไม่ใช่พลัง แต่ข่าวกรอง (หรือความรู้) ต่างหากที่เป็นพลัง
บางคนวิเคราะห์ข้อมูลด้วย “อารมณ์” ไม่ได้วิเคราะห์ด้วย “สมอง” ผลที่ออกมาจึงไม่ก่อให้เกิดปัญญาและไม่มีพลัง
ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เคยกล่าวไว้ว่า โลกปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะขยัน “ค้นหา” มากน้อยกว่ากัน แต่การแพ้ชนะกันอยู่ตรงที่ใครจะสามารถแปลงข่าวสารนั้น ให้เป็นความรู้และสร้างปัญญาได้มากน้อยกว่ากัน และใครจะใช้ความรู้นั้นได้ “เร็ว” กว่ากันต่างหาก
ถ้า คมช.ไม่สามารถแก้ไข ความยากจนทางปัญญาของประชาชนระดับรากหญ้าในชนบท ได้ คลื่นใต้น้ำก็ยังมีอยู่ต่อไป (อังคาร 2 ม.ค. 50)