ปัญหาการอพยพลี้ภัยในประเทศไทย

Travel necessities

ประเทศไทยมีประสบการณ์ในเรื่องของผู้อพยพลี้ภัยมาเป็นเวลานาน ที่ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญก็คือ การอพยพของคนลาว เวียดนาม ที่หนีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เข้ามาในไทยหลังจากที่คอมมิวนิสต์ยึดครองอินโดจีนได้ในปี 2518 ในขณะนั้น เรามีค่ายผู้ลี้ภัยอยู่ตามชายแดนลาวหลายแห่งเพื่อรองรับคนลาวที่ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามา และมีค่ายผู้ลี้ภัยในภาคใต้เพื่อรองรับมนุษย์เรือ หรือผู้อพยพจากเวียดนามที่มาทางเรือ พอหลังจากปี 2521 เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชา มีชาวเขมรหลายแสนคนอพยพข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย เรามีค่ายผู้อพยพหลายแห่งตามชายแดนด้านอีสานใต้ติดต่อกับกัมพูชา
ไทยมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการผู้อพยพร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNHCR รวมทั้งการส่งผู้อพยพกลับประเทศเมื่อเหตุการณ์ในลาวและกัมพูชาดีขึ้น และการส่งผู้อพยพไปประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรปตะวันตก
ปี 2549 ไทยยังมีปัญหาผู้อพยพลี้ภัย ผู้ทิ้งถิ่นฐานเดิม ด้วยเหตุผลหลบหนีการสู้รบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ทั้งจากเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ตะวันออก และภาคเหนือ รวมทั้งการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของคนจากประเทศเอเชียใต้ และจากจีนตอนใต้ แม้รัฐบาลไม่ยอมรับว่ามีผู้อพยพ แต่ใช้คำว่า ผู้พลัดถิ่นและผู้หลบหนีเข้าเมืองแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าแทรกแซงของ UNHCR แต่ในความเป็นจริง เราก็มีปัญหาของผู้อพยพลี้ภัยและผู้ทิ้งถิ่นฐานนั่นเอง
สถานที่ตั้งของประเทศไทยตั้งอยู่ตรงกลางของแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้อมรอบด้วยพม่า ลาว กัมพูชา และมีจีนตอนใต้กับเวียดนามอยู่ไกลออกไป ดังนั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้น ประชาชนของประเทศเหล่านี้จะหนีข้ามพรมแดนมาไทยเป็นหลัก เพื่อปักหลังตั้งหลักฐานในไทยชั่วคราวก่อนกลับบ้านหรือเดินทางไปประเทศที่สาม รวมทั้งยังเป็นแหล่งทำมาหากินของอาชญากรข้ามชาติด้วย
สหประชาชาติรายงานว่า ไทยมี “ผู้อพยพ ” ชาวพม่าพม่าประมาณ 1.16 แสนคน และผู้ลี้ภัยอีก 3.1 หมื่นคน โดยใช้คำรวมว่าเป็น “บุคคลที่ต้องห่วงใย” รวมทั้งนักศึกษาพม่าที่หลบหนีเข้ามาเมืองไทยซึ่งปัจจุบันเกือบทั้งหมดเดินทางไปประเทศที่สามแล้ว จำนวนดังกล่าวนั้นสหประชาชาติคงหมายถึงเฉพาะชนกลุ่มน้อยพม่าที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลพม่ามาอยู่ตามแนวพรมแดนไทยด้านตะวันตกติดต่อกับพม่าตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เป็นสำคัญ ไม่รวมถึงผู้หลบหนีเข้าเมืองด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอีกนับเป็นล้านคน
สหประชาชาติได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างประเทศและไทยที่เข้าไปช่วยเหลือผู้อพยพพลัดถิ่นเหล่านี้ ในการจัดการลงทะเบียน การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายไทยเพราะคนเหล่านี้ต้องขึ้นกับกฎหมายไทย และการฝึกอาชีพ ให้การศึกษาแก่เด็ก 37,000 คนในค่าย 9 แห่ง จัดห้องสมุดสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก 9 หมื่นคน ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่า แต่ปลูกต้นไม้ทดแทนที่ถูกลักลอบตัด ดูแลด้านสุขภาพ อนามัย และโภชนาการ การให้ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ เรื่องการป้องกันการติดเชื้อ เอช.ไอ.วี. การให้ความช่วยเหลือสร้างที่พักอาศัย การส่งผู้อพยพลี้ภัยไปประเทศที่สาม ฯลฯ
สหประชาชาติได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก ในการบริหารจัดการผู้อพยพลี้ภัยในไทย เมื่อปี 2547 สหประชาชาติมีโครงการที่ต้องใช้งบเกือบ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้บริจาคมากที่สุดคือ สหภาพยุโรป รองลงมาคือญี่ปุ่น